ร้อยพันเรื่องราว

ขอบคุณเนื้อหาดีๆจาก 

WEB Thaigramophone


เรื่องราวที่ควรรู้เมื่อจะเล่นแผ่นเสียง

การเล่นแผ่นเสียงดูเหมือนยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่น่าจะเหมาะกับการฟังเพลงที่ต้องการความสบายและสุนทรีย์จากเสียงเพลงเลย   ใช่ครับ....สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเล่นมาก่อน และกำลังจะมาลองเล่นดูบ้าง   แต่เมื่อได้สัมผัส และได้ฟังเสียงเพลงที่หลุดออกมาจากเครื่องเล่นนี้แล้ว อาจทำให้ต้องเปลี่ยนใจและต้องตรึกตรองใหม่   โอ้....มันช่างมีเสน่ห์อะไรเช่นนั้น  เสียงที่กระทบโสตประสาทมันช่างเนียนราบรื่น โปร่งโล่ง ไม่ทำให้เกิดอาการล้าหูเลยแม้จะฟังติดต่อกันนานเท่านาน  บางแผ่นให้เสียงอวบใหญ่ เหมือนนักร้องในแผ่นเสียงมาร้องอยู่ต่อหน้ายังไงยังงั้น     การฟังจากแผ่นเสียงจึงให้มิติแห่งเสียงเพลง กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อยากฟังความพิศดารแห่งการบันทึกที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มันช่างอมตะอะไรเช่นนี้ !!    

เมื่อฟังไประยะหนึ่งก็จะเกิดความเคยชินในการหยิบจับอุปกรณ์ ทั้งการใช้แปลงเช็ดทำความสะอาดแผ่นเสียง การเช็ดหัวเข็ม การดึงแผ่นมาจากซองแผ่นเสียงวางลงบน Platter เครื่องเล่น แล้วจับ Tonearm ที่ก้านจับบรรจงวางหัวเข็มลงที่ร่องแผ่นเสียง  จนไม่มีความรู้สึกยุ่งยากอีกต่อไป กลายเป็นความรักที่จะทำเช่นนั้น  เป็นศิลปะแห่งการฟังเสียงเพลง ละการมักง่าย เกิดเป็นวิถีชีวิตที่ช้าลง 

 

การเลือกหาซื้อแผ่นเสียง

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาการเลือกซื้อแผ่นเสียง ใคร่ขอเกริ่นวิธีการอัดเสียงลงแผ่นพอสังเขป เพื่อประกอบความเข้าใจและจะง่ายต่อการตัดสินใจเลือกซื้อแผ่นเสียง
ค่ายผลิตแผ่นเสียงต่าง ๆ มีการคิดค้นหาวิธีการอันหลากหลายที่จะปรับปรุงให้แผ่นเสียงที่ตนผลิตออกมา ให้เป็นที่ต้องการของตลาด จึงเกิดการแข่งขันในการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยี่ใหม่ ๆโดยวิศวกรผู้ชำนาญการเรื่องเสียง บังเกิดวิธีการใหม่ ๆให้ได้เสียงที่บันทึกลงแผ่นมีความใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิม หรือเหมือนแหล่งต้นเสียงได้มากที่สุด
การทำแผ่นต้นฉบับหรือ mastering
โดยทั่วไปแล้ว ในการอัดเสียงดนตรี เพลง จากห้องที่เตรียมการไว้เป็นห้องอัด (Studio) ก็ดี หรือ ในห้อง concert hall ก็ดี มักจะอัดเก็บบันทึกไว้ในรูปแบบของเทป ซึ่งเป็นเทปรีล แล้วจึงใช้เป็นต้นแหล่งเสียงไปทำเป็นแผ่นต้นแบบ หรือ master สำหรับผลิตแผ่นเสียงต่อไป
กระบวน การทำแผ่นต้นแบบหรือมาสเตอร์ จะเริ่มต้นด้วยแผ่นอลูมิเนียมเคลือบด้วยแลคเกอร์(โดยมากแลกเกอร์นี้มีส่วน ประกอบของอาซีเตต) เรียกแผ่นอลูมีเนี่ยมที่เคลือบด้วยแลคเกอร์นี้ว่า Lathe นำ Lathe ไป เข้าเครื่องเขียนแผ่น ลักษณะของเครื่องเขียนแผ่นก็เหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพียงแต่ไม่มีโทนอาร์มและหัวเข็ม  แต่ใช้ชุดเขียนที่ประกอบด้วยหัวเพชร(รูปร่างของหัวเพชร \/ ) หัวเพชรจะเขียนลงบนแลคเกอร์บนแผ่น Lathe
เมื่อเสียงสัญญาญจาก master tape ผ่านเข้ามาโดยผ่านทางชุดควบคุม(ปรับสัญญาณตามมาตรฐาน RIAA) สัญญาญแหล่งเสียงจากทางด้านซ้ายและขวาของลำโพงจะถูกเขียนลงบนแลคเกอร์บนแผ่น Lathe โดยเขียนสัญญาญเสียงลงตามแนวตั้งของร่องเสียงด้านข้างและกลางร่อง(ร่องของแผ่นเสียงทำมุมกัน 45 องศา ตามรูปร่างของเข็มเพชร \/ นั่นเอง) ลงบนแผ่น Lathe  
เมื่อเสร็จสิ้นการเขียนเรียบร้อยแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบความเรียบร้อยทางกายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์ก่อน แล้วนำแผ่นนี้ไปเคลือบด้วยสารเงิน(Silver) ด้วยวิธี Electroplating (ใช้ขั้วกระแสไฟฟ้า เป็นตัวนำพา เหมือนการชุบโครเมี่ยม) เมื่อเคลือบสารเงินได้หนาพอ จะถูกแกะออกมาจาก Lathe ส่วนที่เคลือบด้วยสารเงิน ที่แกะออกมาจาก Lathe นี้  คือ ต้นแบบเรียกว่า Metal master (หรือFather) ก็จะเป็นแผ่นโลหะซึ่งมีรูปแบบของร่องกลับข้างกัน(negative image)กับตัวต้นแบบแล็คเกอร์ของ Lathe 
และจาก metal master หรือ father สามารถที่จะสร้างต้นแบบขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เรียกว่า “mothers”ด้วยวิธีการ Electroplating เช่นเดิม ต้นแบบ mothers ทั้งหลายนี้จะได้ออกมาเหมือนกับแผ่นLathe (positive image) นั่นเอง
ดังนั้นจาก 1 Metal master หรือ father สามารถที่จะสร้าง mothers ได้หลายแผ่นตามต้องการ โดยมากจะได้ประมาณ 10 แผ่น
และจาก mothers ก็ใช้วิธีการ Electroplating เช่นเดิมทำซ้ำอีก ได้แผ่น negative image ขึ้นมาเรียกว่า Stamper จาก 1 mother สามารถสร้าง stamperได้อีกประมาณ 10 แผ่น
คราวนี้แหละจะใช้แผ่น Stamper เป็นแม่พิมพ์สุดท้าย (mold) ใน การพิมพ์ลงไปที่แผ่นไวนิลภายใต้การควบคุมของแรงอัดและความร้อนที่กำหนดไว้ ได้ออกมาเป็นแผ่นเสียงสำหรับฟังกัน โดยทั่วไปจะพิมพ์ได้ 1000 แผ่นต่อ 1 stamper
โดยสรุป 1 Metal master จึงผลิตแผ่นเสียงออกมาได้ถึง 1 แสนแผ่นทีเดียว หากความต้องการในท้องตลาดไม่เพียงพอก็จะต้องทำ re-master ขึ้นมาใหม่อีก เป็นเช่นนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจได้แล้วว่าทำไมแผ่นเสียง album เดียวกันในแต่ละรุ่น ราคาจึงแตกต่างกันได้มาก แผ่นที่ทำมาจากต้นแบบ mother แรกมีราคาแพงที่สุด บางค่ายใช้ Metal masterหรือ Father ทำเป็น stamper ออกมาพิมพ์แผ่นเลย แผ่นประเภทนี้จะมีจำนวนน้อยและแพงมาก ๆ 

How Vinyl Records Are Made PART 1

How Vinyl Records Are Made PART 2

สำหรับแหล่งเสียง master ที่อัดมาเป็นต้นแบบ โดยทั่วไปใช้เทปรีลดังที่กล่าวมาแล้วนั้น มีบางค่ายกลับใช้การเล่นสดเลย ให้สัญญาณเสียงที่เล่นสดๆไปยังเครื่องเขียนเลย แล้วบันทึกเขียนแผ่น Lathe เป็นต้นแบบโดยตรง เรียกว่า Direct cut เช่น Sheffield Lab record. RCA Direct cut series จากอเมริกา, Alto analog จากญี่ปุ่น และที่อื่นบางแห่ง
สำหรับค่าย Command record มาแปลก ใช้ฟิล์มภาพยนต์เป็นตัวบันทึกทำเป็น master ส่วนค่าย Mobile Fidelity ใช้เทปรีลแต่อัดด้วยเทคโนโลยี่ Half-speed  โดยวิธีการให้เทปเดินช้ากว่าปกติครึ่งหนึ่ง เพื่อเก็บรายละเอียดของเสียงมากขึ้น เป็นต้น
เมื่อได้ทราบถึงวิธีการผลิตแผ่นเสียงในรูปแบบต่าง ๆแล้ว การเลือกหาแผ่นเสียงที่มีคุณภาพ ด้วยราคาอันเหมาะสมก็คงไม่ยากต่อการตัดสินใจแล้ว ค่ายผลิตแผ่นเสียงมีมากมาย มีหลายระดับคุณภาพ ตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงระดับ audiophile ฉะนั้นการเลือกซื้อ นอกจากหาอัลบั้มที่ชอบตามรสนิยมแล้ว ยังต้องดูชนิดแผ่นว่าคุณภาพการผลิตระดับใด เป็น copy เริ่มต้น หรือ ท้าย ๆ (1st pressing, 2nd pressing, 3rd pressing, 4th pressing…)หรือว่าเป็นชนิดอัดพิเศษ หรือเป็นเวอร์ชั่นที่ทำ master ขึ้นมาใหม่ (Re-Issue) ราคาย่อมแตกต่างกัน ถูกแพงลดหลั่นกันไปตามคุณภาพ
สำหรับการเลือกซื้อแผ่นเสียงเก่ามือ 2 หรือมือที่เท่าไรก็แล้วแต่ นอกเหนือจากพิจารณาคุณสมบัติการผลิตดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สภาพของแผ่น ควรเลือกหาแต่แผ่นที่มีสภาพดี หรือพอรับได้ อาจมีรอยขีดบาง ๆ หรือรอยขนแมวบ้างไม่มากเกินไป เพราะเราซื้อมาเพื่อฟัง มิได้ซื้อหามาเก็บไว้เป็นของเก่าเพื่อสะสมเฉย ๆ
ขอแนะนำเพิ่มเติมวิธีการดูแผ่นเก่า ดังนี้  จับขอบแผ่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ยกหน้าแผ่นขึ้นกระทบกับแสงสว่างที่มากเพียงพอ ถ้าเป็นแสงแดดตอนกลางวันยิ่งดี กระดกพลิกแผ่นไปมา คอยสังเกตดูร่องรอยให้ได้ ถ้าไม่พบร่องรอยเลยก็ถือว่าได้แผ่นสภาพที่ดี หรือพบเพียงรอยบาง ๆ ไม่ลึกนัก หรือรอยขนแมวเล็กน้อย ก็น่าจะพอรับได้ แต่ถ้ามีรอยลึกหรือรอยขนแมวมาก ก็ไม่ควรซื้อมา เพราะแผ่นสภาพแบบหลังนี้นอกจากจะสร้างความรำคาญในการฟังจากเสียงกรอบแกรบแล้ว บางครั้งมีเสียงตกร่อง  รอยบางเล็ก ๆอาจมองไม่เห็นในแสงที่สว่างไม่เพียงพอ ฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการใช้แสงตรวจสอบให้มาก และอีกประการหนึ่งที่ควรระวังคือแผ่นโก่ง บิด ไม่เรียบ ตรวจสอบโดยให้วางแผ่นกับพื้นระนาบจะพอสังเกตเห็นได้ หรือถ้าได้ลองเปิดเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยเลย นั่นเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โอกาศผิดพลาดมีน้อย
สำหรับนักฟังระดับพหูสูตร audiophile ทั้งหลาย มักให้ความสำคัญกับคุณภาพการอัดของแผ่นมาเป็นอันดับก่อนความสำคัญของประเภท album เพราะต้องการฟังเสียงคุณภาพที่สมจริง มีรายละเอียดของเสียงจากต้นแหล่งครบ ตัวโน้ตดนตรีและเสียงที่อิ่มสมบูรณ์ มีความสมดุลย์ของเสียง(Tonal balance)ที่ถูกต้อง เวทีเสียงกว้างสมจริง พวกเหล่า audiophile ทั้งหลาย ยอมลงทุนซื้อหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงคุณภาพสูงในราคาแพง พร้อมหัวเข็มที่ไวพิเศษไว้ครอบครอง จึงมักพิถีพิถันในการเลือกหาแผ่นที่สมบูรณ์และคุณภาพการผลิตแผ่นเสียงที่ดีเหนือมาตรฐานทั่วไป ราคาย่อมแพง แต่ก็คุ้มค่ามาก ๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีความรอบรู้ สามารถเลือกหาแผ่นที่ดี มีคุณภาพได้ในราคาไม่แพง ก็นับว่าได้เปรียบ และ โชคดี กระมัง

การดู เลเบล และเลือกแผ่นเสียง

แผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายแต่ละอัลบัม จะมีแผ่นที่ปั้มออกมาครั้งแรกจากต้นแบบ(Stamper)ที่ต้องนำมาตรวจสอบก่อนประมาณไม่เกิน 100 แผ่น หลังจากเข้าที่แล้วแผ่นต่อจากนี้ไปจึงจะเป็นแผ่นที่จะนำออกจำหน่าย แผ่นที่ตรวจสอบนี้เรียกว่า Test pressing บางค่ายก็มีนำออกจำหน่ายโดยมักจะมี เลเบล สีขาวพื้นๆ พิมพ์ชื่ออัลบั้ม/เพลง สีดำ ส่วนซองนอกก็จะเป็นซองขาวไม่มีข้อความใดๆทั้งสิ้น  test pressing ของอัลบัม เก่าๆปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหามาสะสมกัน เนื่องจากเป็นพิมพ์แรกๆจาก stamper เสียงจะคมชัดดีกว่าแผ่นหลังๆที่ตามมา
ยังมีแผ่นอีกประเภทหนึ่งที่ค่ายเพลงมักนำมาแจกฟรีให้กับสถานีวิทยุ เพื่อโปรโมทเพลงของศิลปินที่สังกัดค่ายตนเอง เรียกว่า Demonstration Disc แผ่นประเภทนี้ก็เข้าใจได้ว่าน่าจะมีคุณภาพดีกว่าแผ่นที่ออกจำหน่ายจริง เนื่องจากเป็นแผ่นที่ผลิตออกมาจาก Stamper แรกๆ ฉลากหรือเลเบล มักจะมีรูปลักษณ์เฉพาะแตกต่างไปจากแผ่นที่จำหน่าย แต่ละค่ายก็แตกต่างกันไปแล้วแต่จะกำหนดให้เป็นที่เข้าใจกันเอง ซึ่งโดยมากก็มักจะมีพื้นฉลากสีขาว ตัวพิมพ์สีดำ
สำหรับแผ่นที่ผลิตออกวางจำหน่าย (Commercial labels) ก็จะมีหลายรุ่นที่ผลิตออกมา เรียกว่า1st pressing, 2nd pressing…….ส่วนรุ่นหลังๆที่นำมาสเตอร์มาทำใหม่ก็จะเรียกว่า re-issue  บางอัลบั้ม ก็ผลิตจากหลายประเทศเช่น Japan pressing, German pressing, Indian pressing ….อะไรทำนองนี้ คุณภาพเสียงของแต่ละรุ่นที่ผลิต หรือแต่ละประเทศที่ผลิต ย่อมแตกต่างกัน ก็จะเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้เสาะแสวงหา และนัก audiophiles ทั้งหลาย  ในการเลือกซื้อก็จะต้องดูให้ดี ถ้าไม่พบข้อความระบุแหล่งผลิตจากซองนอกที่บรรจุแผ่น ก็อาจต้องดูที่เลเบลที่ติดอยู่กับแผ่น มักจะมีแหล่งผลิตระบุเอาไว้
ฉะนั้นในการเลือกหาซื้อแผ่นเพื่อสะสมจริงๆจึงควรที่จะหาข้อมูลและเรียนรู้ประวัติของค่ายผลิตแผ่นเสียงต่างๆ จึงจะมีความเข้าใจได้ถูกต้อง

ค่ายเพลง / ค่ายผลิตแผ่นเสียง

การศึกษาประวัติของค่ายที่ผลิตแผ่นเสียงที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อน ’50 จนถึงยุค ’70 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรม/ธุรกิจแผ่นเสียง กำเหนิดขึ้น และเฟื่องฟูสุดขีด ย่อมทำให้เข้าใจลึกซึ้งต่อแผ่นเสียงที่ต้องการเสาะแสวงหามาฟังและสะสมอย่างมีความหมาย
บทความจาก ลุงพง 15/03/2549  

การทำความสะอาดแผ่นเสียง

หากซื้อแผ่นเสียงใหม่ก็คงไม่ต้องยุ่งยากมาล้างแผ่นเสียง แต่สำหรับแผ่นเสียงรุ่นเก่าๆ รุ่นสะสม ที่มีอายุหลายสิบปี แน่นอนว่าย่อมจะต้องมีฝุ่นที่เกาะติดแน่น ยิ่งแผ่นที่เก็บไม่ดีสภาพก็จะยิ่งแย่ไปอีก ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดก่อนที่จะลงเข็มเล่น

การทำความสะอาดโดยใช้แปรงปัดฝุ่นแผ่นเสียง

มาเริ่มกันด้วยการทำความสะอาดแผ่นที่ไม่สกปรกมาก หรือล้างมาแล้วก่อน  ทำทุกครั้งเมื่อวางแผ่นลงบนเครื่องเล่น ก็แค่เอาแปรงปัดแผ่นเสียงวางขวางแนวตั้งฉากกับร่องแผ่นขณะที่กำลังหมุนอยู่ 

การทำความสะอาดแผ่นโดยการใช้น้ำล้าง

สำหรับแผ่นเก่าที่ซื้อมาสกปรก  หรือแผ่นที่เก็บไว้นานจนสกปรกมาก  มีคราบเกาะที่ผิวแผ่น ก็ใช้วิธีล้างแบบล้างจานได้เลยครับ โดยใช้น้ำยาล้างจาน ซันไลท์ กับฟองน้ำ กดฟองน้ำกับผิวแผ่นให้หนักๆถูวนตามร่องแผ่น ไม่ต้องกลัวเลเบลแผ่นเสียงจะหลุด เพราะใช้เวลาไม่มาก เมื่อล้างทั้ง 2 หน้าเสร็จแล้ว ก็มาเช็ดให้แห้งด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าที่สะอาด
หมายเหตุ : มีบางฉลากที่โดนน้ำไม่ได้ สีจะลอก ก็สังเกตเลเบลที่เป็นกระดาษด้านๆเช่น Decca ฉลากสีฟ้า, Telefunkel ฉลากสีแดง (ต้องใช้ตัวครอบฉลาก) แต่ส่วนใหญ่ที่ผิวมันก็ไม่มีปัญหาใดๆ
สำหรับแผ่นที่สกปรกมากๆ มีคราบสกปรกติดกรังลึกที่ร่องแผ่น  ก็จะต้องใช้ตัวครอบฉลากเลเบลแผ่นเสียงแล้วแช่ให้มิดน้ำ แช่ไว้ 1-7 วันแล้วแต่สภาพแผ่น  แล้วจึงนำออกมาใช้ฟองน้ำและน้ำยา ซันไลท์ ล้างอีกที  จะใช้แปรงสีฟันที่ขนเล็กนิ่มๆเช่น Systema ช่วยด้วยก็จะยิ่งดี

การล้างแผ่นด้วยเครื่อง Ultrasonic

เป็นนวัตกรรมใหม่ของเครื่องล้างแผ่นเสียงสกปรกที่ได้ผลจริง แต่ก็ต้องลงทุนในราคาที่แพงมาก  (ไม่เหมือนรุ่นที่ใช้วิธีลมดูดแรงสูง ซึ่งไม่ค่อยได้ผล)


การบอกสภาพแผ่นเสียง (Grading)

ผมคัดลอกมาให้จากมาตรฐานของนิตยสาร Goldmine ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้สะสมแผ่นเสียง ซีดี ทั่วโลก ทำให้ง่ายขึ้นต่อการประเมินราคาซื้อขาย คนที่ใช้มาตรฐานนี้มักจะขายได้ง่าย โดเฉพาะบน eBay เพราะรับรู้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 
การบอกสภาพแผ่น (Grading) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ คือการฟังทุกเพลงตลอดทั้งแผ่น (Play Grade) แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา จึงเป็นการยากที่จะฟังแผ่นเสียงทุกแผ่น เราก็สามารถบอกสภาพได้ด้วยการดูเพียงอย่างเดียว (Visual Grade) ดังนั้น ถ้าเรา บอกสภาพด้วย การฟังควรแจ้งให้ทราบไว้ด้วย มิฉะนั้น จะถือกติกาว่าเป็นการบอกสภาพแผ่นแบบ Visual Grading 
บางคนอาจแยกการบอกสภาพเป็นเฉพาะ ปก/แผ่น ก็ให้ถือว่า ป้ายวงกลมเป็นส่วนเดียวกับสภาพแผ่น และซองในเป็นส่วนเดียวกับปกนอก หรือ มิฉะนั้น ก็บอกสภาพแยกให้ละเอียดก็ได้ นอกจากนี้ ถ้าทำได้ ผู้ขายจะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ขาดมุม ตัดมุม ซองในไม่ใช่ original ฯลฯ เป็นต้น 
:::วิธีการบอกสภาพแผ่น::: 
ภายใต้แสงที่เพียงพอ (นิยมใช้ไฟอย่างน้อย 150 แรงเทียน หรือ กลางแจ้ง) ให้ดูทุกส่วนของแผ่นเสียง ไม่ว่าจะเป็น ผิวแผ่น ป้ายวงกลม ขอบแผ่น ฯลฯ แล้วใช้วิจารณญาณอย่างเป็นกลาง เน้นว่า วิจารณญาณอย่างเป็นกลาง เพื่อกำหนดสภาพแผ่นดังนี้ 
:::Mint (M) หมายถึง ทุกอย่างต้องสมบูรณ์ เสมือนไม่เคยผ่านการเล่น ส่วนใหญ่มักใช้เฉพาะแผ่นที่ยังอยู่ในซีลพลาสติก (แต่แผ่นซีลไม่ใช่จะสมบูรณ์ทั้งหมด) บางคนถือว่า ถ้าแกะซีลแล้ว แม้ยังไม่เล่น ก็ไม่ได้เกรด Mint เหมือนกัน สำหรับแผ่นซีล Still Seal ซึ่งกำหนดโดยผู้ขายบางราย อาจมีการทำซีลแผ่นขึ้นมาใหม่ วิธีที่ดีในการซื้อแผ่นซีลคือแกะดูต่อหน้าผู้ขายว่าภายในอยู่ในสภาพ Mint จริงๆ 
:::Near Mint (NM หรือ M-) หมายถึง เกือบจะสมบูรณ์ แผ่นต้องไม่มีร่อยรอยชำรุดใดๆทั้งสิ้น ปกแผ่นไม่มีรอยวงกลม ไม่ยับ ไม่งอ ไม่มีการเจาะ ตัด หรือ ใช้ปากกา ดินสอ เขียนอยู่บนแผ่นปก สีไม่ซีดจาง ถ้ามีผิวเคลือบ ผิวเคลือบต้องไม่ลอก ฯลฯ หลักง่ายๆของแผ่น NM คือ เหมือนกับซื้อจากร้านแล้วมาแกะเล่นเพียงรอบเดียว (ทำให้ต่างจาก Mint) ราคาแผ่นของ Goldmine ทั้งหมด ถือเอาแผ่นในสภาพ Near Mint 
:::Very Good Plus (VG+) หมายถึง มีร่องรอยในการเล่นภายใต้การบำรุงรักษาอย่างดี ผิวแผ่นอาจมีรอยจางๆ มีเสียงรบกวนเบาๆ โดยไม่รู้สึกในการฟังปกติ แผ่นที่งอเล็กน้อยโดยไม่มีผลต่อเสียง ถือว่ายอมรับในสภาพนี้ได้ ป้ายวงกลมกลางแผ่น อาจมีรอยหรือเปลี่ยนสีเล็กน้อย แต่ไม่ควรสังเกตได้ชัด รูตรงกลางต้องคมไม่บิดเบี้ยวจากการเล่น ปก,ซองใน,เอกสารอื่นๆ อาจมีรอยใช้งานให้เห็นได้, มุมปกอาจบุบ, ปกมีรอยแตกตามสัน, มีรอยวงกลมที่เรียกว่า ring wear, แต่ต้องเป็นเพียงเล็กน้อย แผ่นที่ถูกเจาะรู หรือ ตัดมุม ยอมให้อยู่ในเกรดนี้เท่านั้น แม้จะมีสภาพดีกว่าก็ตาม ฯลฯ หลักง่ายๆของแผ่น VG+ คือ เหมือนกับแผ่น NM ภายใต้ร่องรอยการใช้งาน ที่มีการดูแลอย่างดี ราคาแผ่นเกรดนี้ จะประมาณ 50% ของราคา Goldmine 
:::Very Good (VG) หมายถึง แผ่นสภาพที่มีร่องรอยการเล่นมากขึ้นจาก VG+ เวลาเล่นอาจมีเสียงซ่า แครก แต่เสียงรบกวนนี้ต้องเบากว่าระดับสัญญาณดนตรี ร่อยรอยบนผิวแผ่นมองเห็นได้โดยไม่ต้องสังเกต เทคนิคที่นิยมคือ ใช้นิ้วค่อยๆลูบบนผิวแผ่น ถ้ารู้สึกถึงรอยสึก ต้องยอมให้แผ่นอยู่ในสภาพ VG เท่านั้น ปกอาจมีรอยซ่อมแซมด้วยเทป สติกเกอร์ บางจุด สีปกอาจซีดจาง มีรอย ring wear มีการขีดเขียน ผิวขาดบางส่วน แต่ร่องรอยเหล่านี้ต้องมีไม่มาก ปกยังต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติ ไม่ขาดวิ่น ฯลฯ หลักง่ายๆของแผ่น VG คือ แผ่นเสียงที่เล่นโดยปกติ แต่ขาดการระมัดระวังในการบำรุงรักษาอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เราจะพบแผ่นสภาพนี้เยอะมาก ราคาแผ่นเกรดนี้ จะประมาณ 25% ของราคา NM ตามมาตรฐาน Goldmine 
:::Good (G) และ Good Plus (G+) ไม่ได้หมายถึง แผ่นสภาพไม่ดี แผ่นเกรดนี้ต้องยังสามารถเล่นผ่านได้จนจบเพลง โดยไม่สะดุด ไม่ทำอันตรายต่อเข็ม เพียงแต่ เสียงรบกวนที่ได้ยิน อาจดังถึงระดับเดียวกับดนตรี ปก อาจฉีกขาดตลอดด้านใดด้านหนึ่ง หรือ ฉีกขาดบางส่วน ในแต่ละด้าน (ซองในกระดาษส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพนี้) รอยเปื้อนอาจมีมากจนบังรายละเอียดของปกบางส่วน ในทางปฏิบัติ แผ่นเกรดนี้มักไม่นิยมซื้อขาย ยกเว้น เป็นแผ่นที่หายาก และเราหาซื้อได้ในราคาไม่แพง ราคาของเกรดนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของแผ่น NM 
:::Poor (P), Fair (F) หมายถึง แผ่นที่มีเสียงแครกมาก แผ่นงอ เล่นแล้วตกร่อง ข้ามร่อง สะดุด มีรอยขีดข่วนทั่วผิวแผ่น ผิวแผ่นไม่เงา ปก,ป้าย อาจเสียหายจากน้ำ มีรอยฉีกขาด 3 ด้าน มีรอยขีดเขียนมากกว่าครึ่งหนึ่งของปกแต่ละด้าน ปกไม่สามารถเก็บแผ่นเสียงได้หากไม่มีการซ่อม ราคาอยู่ในระดับ 0-5% ของ NM
Posted by : Wanlop วัน/เวลา : 24/10/2549 19:42:06
หลายคนขยายมาตรฐานโดยอ้างอิงจากนี้เช่น มีเกรด Excellent ระหว่าง NM กับ VG+, บางคนก็มี VG++, VG+++ หรือ บอกว่า ทุกอย่าง NM ยกเว้นมีป้ายราคาติดบนปก อย่างนี้เป็นต้น ทุกวัตถุประสงค์มีไว้เพื่ออธิบายสภาพได้ใกล้เคียงที่สุด 
ธรรมเนียมการบอกสภาพ มักจะอนุรักษ์นิยม หรือที่ฝรั่งเรียก Conservative หรือ Strong Grading คือ ให้เกรดต่ำไว้ก่อนนิดหน่อย คนซื้อจะได้ไม่มาต่อว่าทีหลัง ผมเคยซื้อแผ่นตั้งหลายแผ่นบอกว่า VG+ แต่ที่ได้มาเป็นแผ่นใหม่แกะแล้ว NM เลย 
ราคาของ Goldmine ก็เป็นแค่อ้างอิงครับ บางแผ่นหายากมากๆก็ซื้อกันแพงกว่าเยอะ เวลาซื้อแผ่นแพงก็ต้องศึกษาเพิ่มขึ้น (เคยถูกฝรั่งหลอก ต้องระวัง) ต้องดู label กลางแผ่น หมาใหญ่ หมาเล็ก 6-eye 2-eye Maroon Black-silver โอย วุ่นวาย (บทความของลุงพงมีประโยชน์มากนะครับ) ต้องรู้ว่าผลิตออกมามากน้อยแค่ไหน ต้องดูเลขแม่พิมพ์บนแผ่น ซึ่งผมไม่ชำนาญเลย กำลังเรียนรู้ ถ้าใครมีความรู้พวกนี้ ฝากเขียนมาเล่าสู่กันฟังนะครับ 
จบครับ เดี๋ยวจะไปลุ้นฝั่งประมูลแผ่นดีกว่า 
Posted by :Wanlop
วัน/เวลา :24/10/2549 20:00:52วัน/เวลา :24/10/2549 20:00:52

วิธีแก้แผ่นเสียงบิด

ผมออกจะโชคดีกว่าอีกหลาย ๆ คนที่มีโอกาสได้รับแผ่นเสียงที่บิดเบี้ยว เป็นคลื่น ไว้หลายแผ่น ทำให้มีวัตถุดิบนำมาทำการทดลองดัดด้วยวิธีธรรมชาติตามที่สมาชิกได้แนะนำไว้ในกระทู้ เป็นแผ่นที่นำมาเปิดเล่นก็ไม่ได้ จะโยนทิ้งก็เสียดาย (เหมือนไม่ให้เกียรตินักร้องนักดนตรีที่อยุ่ในแผ่น) ได้โอกาสเหมาะก็เลยนำมาทดลองใช้ความร้อนจากแสงแดด แบบแผ่นแดดเดียวดังนี้ครับ 
แผ่นนี้มีสภาพบิดเบี้ยว และเป็นคลื่นลูกใหญ่มาก แต่เป็นเพลงไทยเดิมที่ไพเราะมาก เป็นตัวทดลองครับ 
 
นำกระจกหนา 2 หุน ขนาดโตกว่าแผ่นเสียงเล็กน้อยจำนวน 2 แผ่น ผมใช้กระจกสีดำเพราะเห็นว่าจะช่วยป้องกันรังสี UV ไม่ให้ทำร้ายผิวของแผ่นเสียง (ล้อเล่นครับ ที่จริงของมันมีอยู่แล้ว) นำมาทำความสะอาดด้วยน้ำยาเช็ดกระจก ไม่ให้มีผุ่นผงเกาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เวลาที่แผ่นโดนความร้อนจนอ่อนตัว ผุ่นผงอาจจะฝังตัวเข้าไปในเนื้อของแผ่นเสียงได้ 
 
นำแผ่นที่มีปัญหามาวางเตรียมทำแผ่นเสียงแดดเดียวครับ 
 
นำกระจกวางประกบแล้วใช้คลิปดำ (หยิบยืมมาจากที่ทำงาน) หนีบไว้รอบ ๆ นำไปผึ่งแดดไว้ 
ครั้งที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ผล แผ่นไม่เปลี่ยนแปลง 
ครั้งที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ผล ยังเหมือนเดิม 
ครั้งที่ 3 ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ผล ก็ยังคงบิดเหมือนเดิม 
ครั้งที่ 4 ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ทิ้งไว้ให้เย็นอีกประมาณ 30 นาที แผ่นดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังคงบิดอยู่ ต้องพักเพราะเวลาใกล้ค่ำ แดดหมดแล้ว 
ครั้งที่ 5 นำออกผึ่งแดดตั้งแต่เช้า แดดดีมาก ปล่อยทิ้งไว้ทั้งวัน (ชักมีอารมณ์นิด ๆ) จนแดดหมด นำมาเก็บไว้ร่ม ทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืนอีก 1 วัน 
หลังจากแกะคลิปดำและเอาแผ่นออกจากกระจก ลองนำมาเปิดเล่นดู แผ่นหายจากการบิดเบี้ยว เรียบเกือบเป็นปกติ เปิดฟังได้แต่อาการเป็นคลื่นยังมีอยู่เล็กน้อย ตั้งใจว่าพรุ่งนี้ถ้าแดดดี จะลองทำอีกซักแดดเผื่อตรงที่เป็นคลื่นจะดีกว่าเดิม 
ข้อควรระวัง ควรทำกับแผ่นที่เปิดฟังก็ไม่ได้ โยนทิ้งก็ไม่ได้ครับ 
Posted by :dusit วัน/เวลา :9/8/2549 21:11:07วัน/เวลา :9/8/2549 21:11:07 

เอาสูตร น้ำยาล้างแผ่นเสียง มาฝากครับ

เอาคำออกตัวเค้ามาด้วยนะครับ 
For all you vinyl junkies out there, i have gathered a few suggested cleaning concoctions from the internet and other mailing lists i belong to. i offer NO 
responsibility for these formulations. 
ได้เรื่องอย่างไร ลงข้อความมาบอกกันบ้างนะครับ
Posted by : especial4you วัน/เวลา : 2/11/2549 14:47:51
แว๊ป แว๊ป ว่าเคยเห็นสูตรนี้ แต่จำไม่ได้เหมือนกัน เอาสูตรผมไหม 
ล้างแผ่นปกติ : isopropyl 30% + น้ำกลั่น 70% (ปริมาตร) 
ล้างคราบนิ้วมือ : ไลปอนเอฟเข้มข้น 10 หยด ผสมน้ำ 75ml (หนึ่งขวด Black lable) 
แผ่นเปื้อนโคลน ฝุ่นหนา : สูตรเหมือนข้อ 2 แต่แช่ไว้ 2 วัน 2 คืน 
Posted by :Wanlop วัน/เวลา :3/11/2549 9:43:29วัน/เวลา :3/11/2549 9:43:29


วิธีดูแลรักษาปกแผ่นเสียง

ที่ผมเจออยู่คือปัญหา 
1.ปกขาด ขาดที่สันปก และขาดบริเวณที่มีการหยิบแผ่นเข้าออกบ่อยๆ(เหมือนๆจะเปื่อย) 
2.รอยปากกาเมจิก (อันนี้มักเจอในแผ่นเพลงไทยที่เหล่าดีเจทำเครื่องหมายเพลงที่ต้องเปิด/การลงชื่อแสดงความเป็นเจ้าของ) 
3.สติ๊กเกอร์ติดราคา (ที่ไม่ควรจะติดบนปกกระดาษ) แต่ก็ติดมา 
จะจัดการอย่างไรดีครับ รบกวนเพื่อนๆพี่ๆด้วยครับ 
Posted by : napat วัน/เวลา : 14/1/2550 21:54:53 

ลบรอยปากกาเมจิกโดยการใช้ครีมล้างแห้ง ลอยด์ ลงแล้วเช็ดถู(วน) จะจางลงเรื่อยๆนะครับ จากนั้นก็ลองลงน้ำยาอีกครั้ง คงต้องประมาณเองนะครับ ว่าต้องลงน้ำยาประมาณไหน สติ๊กเกอร์ก็เช่นกัน แต่เคยเห็นมีน้ำยาที่เช็ดสติกเกอร์ ตรงๆเลย ที่ห้างนะครับ(โฮมโปร,คาร์ฟู) 
Posted by :especial4you วัน/เวลา :15/1/2550 1:35:47วัน/เวลา :15/1/2550 1:35:47 

สำหรับสติ๊กเกอร์ติดราคา ผมใช้น้ำมันไฟแช็ครอนสัน (Ronsonol) หยดลงแล้วค่อยๆดึงออก ถ้าสติ๊กเกอร์ที่ติดมาไม่นานก็ง่าย แต่ถ้าติดมานานๆหลายปี ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ระวังจะติดผิวปกออกมาด้วย 
Posted by :ลุงพง วัน/เวลา :15/1/2550 8:42:35วัน/เวลา :15/1/2550 8:42:35 

เกี่ยวกับปก ซองใน จนถึง Lable ที่ตัวแผ่น ณ เวลาที่ผมได้มาเป็นสภาพอย่างไร ผมจะเก็บรักษามันไว้ให้อยู่ในสภาพอย่างนั้น อาจจะมีลายเซ็นต์ของเจ้าของเดิม หรือบางทีก็เป็นข้อความที่ส่งมอบแผ่นให้กันและกัน บางทีก็มีป้ายราคา ผมว่าอันนี้ดีนะครับ ป้ายราคาของต่างประเทศก็มี ป้ายราคาในประเทศ เช่นห้างเซ็นทรัลพร้อมราคาก็มี บางทีเป็นกระดาษกาวเขียนรหัสที่ร้านค้าของบ้านเราเมื่อ10-20ปีที่ผ่านมานิยมใช้ ผมว่ามันมีอะไรที่เล่าเรื่องในอดีตของปก ของแผ่น นั้น ๆ ไว้ด้วย ผมว่าให้มันอยู่อย่างนั้นแหละครับ ถึงยังไงก็ยังมีคุณค่าดีกว่ารอยขีดเขียนที่เสาชิงช้าตั้งแยะนะครับ 
Posted by :serikul วัน/เวลา :15/1/2550 14:53:59วัน/เวลา :15/1/2550 14:53:59 

แผ่นที่เขียนด้วยปากกาเมจิ ลบง่ายครับ สเตคลีนลงทิ้งไว้ 3นาที แล้วใช้ผ้าเช็ดออกได้เลย ส่วนปากกาลูกลื่นผมจะปล่อยไว้เพราะลบไม่ค่อยออก สติกเกอร์ถ้าเป็นเรื่องราวของแผ่นผมจะเก็บไว้ครับ แต่ก็มีบางแผ่นที่แปะมาบดบังความงามของปกชะงั้น อันนี้ต้องชั่งใจครับ ลอกออกไม่ระวังอาจถลอกได้ ทุกวันนี้ถ้าผมเจอแผ่นที่ปกสวยๆ ผมจะแยกเก็บต่างหาก โดยซื้อซองมาใส่แผ่นแทนครับ 
Posted by :anop วัน/เวลา :15/1/2550 22:50:07วัน/เวลา :15/1/2550 22:50:07 

ปกขาดที่สันปก ขาดบริเวณที่หยิบเข้าออกบ่อยๆ ผมใช้สก็อตเทป 3M แบบด้าน (ขอย้ำต้องแบบด้านเท่านั้น) แปะเลยครับ แบบด้านจะกลมกลืนกับกระดาษดูไม่น่าเกลียดและปกจะไม่ขาดเพิ่มอีก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น